===Not Click=== ===Not Click===

Saturday, July 8, 2017

เรื่องจริงของเณรน้อยเจ้าปัญญา อิคคิวซัง



ในประเทศญี่ปุ่น พระอิคคิวซัง มีตัวตนอยู่จริงและยังมีหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันว่า “อิคคิวซัง” ไม่ได้เป็นแค่การ์ตูน แต่กลับเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ประวัติอิคคิวซัง

เกิดเมื่อปี ค.ศ.1394 ที่เมืองเกียวโต เป็นราชบุตรของพระจักรพรรดิโกโคมัตสึ และเจ้าจอมอิโยะ เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ทำให้ท่านและท่านแม่ของท่านต้องออกจากวัง เมื่ออิคคิวซังมีอายุได้ 5 ขวบ ท่านได้ถูกแยกจากแม่และส่งไปบวชที่วัดอังโคะคุจิ เมืองเกียวโต นิกายรินไซเซน เดิมจริงๆ แล้วตอนเด็ก อิคคิวซังท่านมีชื่อว่า เซนงิคุมารุ ต่อมาเมื่อท่านบวชเป็นเณรที่วัดอังโคะคุจิ ท่านได้รับชื่อใหม่ว่า ชูเค็น

 รูปวาดของท่านอิคคิวซังตัวจริงยามแก่


วัดอังโคะคุจิ เป็นวัดเล็กๆบนภูเขาเคโตคุและเป็นวัดที่ได้รับการดูแลจากโชกุนอะชิคางะทาคาอุจิ วัดนี้อยู่ที่เกียวโต

ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่วัดไซคินจิ ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ยากจนอยู่กับหลวงพ่อเคนโอ (Keno) ที่นี่ชูเคนได้เรียนรู้เซนที่แท้จริง หลวงพ่อเคนโอได้ตั้งชื่อให้ชูเคนใหม่ว่า โซจุน ท่านอิคคิวอยู่ที่นี่จนอายุได้ 21 ปี หลวงพ่อเคนโอก็มรณภาพ โซจุนเสียใจเป็นอย่างมากต่อการตายของหลวงพ่อเคนโอ จนถึงขนาดฆ่าตัวตายโดยการเดินลงไปในทะเลสาบบิวะ (Biwa) แต่โชคดีมีคนมาช่วยไว้

หลังจากนั้นโซจุนได้ไปหาหลวงพ่อคะโซ (Kaso) ที่วัดเซนโกอัน (Zenko-an) ซึ่งเป็นสาขาของวัดไดทกกุ ซึ่งเป็นวัดสำคัญในสมัยนั้น วันหนึ่งหลวงพ่อคะโซได้ตั้งปริศนาธรรมให้แก่โซจุน เมื่อโซจุนแก้ปัญหาได้แล้ว หลวงพ่อคะโซพอใจมากและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า อิคคิว

หลวงพ่อถามอิคคิวว่า “รู้หรือไม่ว่าคำว่าอิคคิวมีความหมายว่าอย่างไร?”
อิคคิวตอบเป็นกลอนว่า

ขอพักสักครู่หนึ่ง
ระหว่างทางจากโลกียะ
ถึงโลกุตตระ
หากฝนจะตกก็ตกเถิด
หากลมจะพัดก็พัดเถิด
(นาม อิคคิว แปลว่า พักสักครู่)


รูปปั้นของท่านอิคคิวซังตอนเป็นสามเณร

ท่านอิคคิวเป็นเณรน้อยอารมณ์ดีอย่างที่เห็นในรูปและเก่งในการเล่นคำ


ท่านอิคคิวตัวจริงเป็นพระเซนชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งรูปปั้นของท่านในวัยผู้ใหญ่ก็แสดงให้เห็นถึงความสูงส่งและชาญฉลาดของท่าน

นิสัยจริงของท่านอิคคิว ต่างจากที่เห็นในการ์ตูนอิคคิวซังมาก ในการ์ตูนท่านอิคคิวเป็นเด็กน่ารัก เรียบร้อย แต่ตัวจริงท่านมักจะมีความคิดที่แตกต่างจากผู้คนรอบตัวท่านอยู่เสมอ ดังนั้นท่านคะโซจึงมอบตำแหน่งเจ้าอาวาสให้แก่ศิษย์รุ่นพี่ของท่านอิคคิว ส่วนท่านอิคคิวก็ออกพเนจรไปตามที่ต่างๆ ซึ่งทำให้ท่านได้มีโอกาสพบปะกับศิลปินและกวีที่มีชื่อเสียงมากมายในยุคนั้น และก็ได้พบกับคนรักของท่านที่เป็นนักร้องเพลงสาวตาบอดที่ชื่อว่า โมริ (Mori) ท่านอิคคิวท่องเที่ยวอยู่หลายปีจนในที่สุดเมื่อเกิดสงครามโอนิน ซึ่งทำให้วัดไดทกกุถูกทำลายจนเป็นเถ้าถ่าน ท่านอิคคิวจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเพื่อทำการฟื้นฟู แต่ท่านอิคคิวอยู่ที่วัดไดทกกุเพียงไม่นาน ท่านก็ไปอยู่ที่วัดอิคคิวจิ ซึ่งเป็นที่สุดท้ายที่ท่านอยู่ ศพของท่านก็ฝังอยู่ที่นี่ ในปี ค.ศ.1481 ท่านอิคคิวได้ถึงแก่มรณภาพเมื่ออายุได้ 87 ปี

หลุมฝังศพของท่านอิคคิวซึ่งท่านสร้างด้วยตัวเองในวัย 82 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1475

เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีเรื่องหนึ่งของท่านอิคคิวก็คือป้ายที่หน้าสะพานซึ่งเขียนไว้ว่า ห้ามข้ามสะพาน ท่านอิคคิวเมื่อได้เห็นป้ายดังกล่าวแล้ว ท่านก็เดินข้ามสะพานไปตรงกลางทางเดินของสะพานโดยไม่มีการลังเลใจ ท่านจึงถูกจับ แต่ท่านก็ได้อธิบายว่าท่านไม่ได้เดินข้ามที่ขอบสะพานแต่ท่านเดินข้ามที่กลางสะพาน ในภาษาญี่ปุ่นนั้นคำว่า ฮาชิ มีสองความหมายคือ สะพานและขอบ


สะพานจำลองเหตุการณ์ปริศนาเรื่องสะพาน

 ป้ายหินซึ่งมีอักษรที่เขียนโดยท่านอิคคิว


ภาพแสดงถึงท่านอิคคิวเดินถือไม้เท้าที่มีหัวกะโหลกเพื่อแสดงปริศนาธรรมแก่ผู้คนทั่วไป วาดโดย โยชิโตชิ สึกิโอกะ (YOSHITOSHI TSUKIOKA) ปี ค.ศ. 1886


ผลงานบางส่วนของบทกวีที่แต่งโดยท่านอิคคิว


หนังสือเรื่องอิคคิวซังตัวจริง เขียนโดยมาซาโอะ โคงุเร (แปลโดย พรอนงค์ นิยมค้า)


ข้อมูลและภาพจาก marumura